การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน

ความสำคัญ

บริษัทฯ มุ่งเน้นการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืนตามมาตรฐานสากล เพื่อให้คู่ค้าของบริษัทฯ ดำเนินงานให้สอดคล้องกับแนวปฏิบัติด้านความยั่งยืนของบริษัทฯ โดยคำนึงถึงการบริหารจัดการผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม มีจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจ แนวปฏิบัติด้านแรงงาน และการค้าที่เป็นธรรม รวมถึงการประเมินความเสี่ยงดำเนินงานตามหลักสิทธิมนุษยชน ความใส่ใจเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และความซื่อสัตย์ทางธุรกิจเริ่มตั้งแต่กระบวนการสรรหาวัตถุดิบอย่างเป็นธรรมและยั่งยืนจนถึงการส่งมอบสินค้าที่มีคุณภาพสูงสุดให้แก่ลูกค้า

เป้าหมาย และ ผลการดำเนินงาน

ตัวชี้วัด เป้าหมาย (ร้อยละ) ผลการดำเนินงาน
ปี 2566
สื่อสารจรรยาบรรณและจริยธรรมและแนวทางปฏิบัติสำหรับคู่ค้า 100 100
คู่ค้าที่ลงนามรับทราบจริยธรรมและแนวทางปฏิบัติสำหรับคู่ค้า 100 100
คู่ค้าที่มีการส่งแบบตอบรับการประเมินตนเอง ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมภิบาล (ESG) 100 100
คู่ค้ารายสำคัญที่ได้รับการประเมินความเสี่ยง ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมภิบาล (ESG) ในพื้นที่ปฏิบัติการ 100 100

ปี 2566 ผลการตอบแบบประเมินตนเองด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมภิบาลจากคู่ค้า และ ผลการตรวจประเมินความเสี่ยง ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมภิบาล (ESG) ในพื้นที่ปฏิบัติการ พบว่า “ไม่มีประเด็นความเสี่ยง”

นโยบายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน

บริษัทฯ มีนโยบายการจัดซื้อจัดจ้าง กระบวนการและหลักเกณฑ์การคัดเลือกคู่ค้าอย่างเป็นธรรม โปร่งใส และตรวจสอบได้ รวมถึงหลีกเลี่ยงการทำธุรกิจกับคู่ค้าที่เสนอให้ผลประโยชน์ใดๆ โดยไม่สุจริต และถือปฏิบัติตามจรรยาบรรณธุรกิจว่าด้วยคู่ค้าและคู่แข่งทางการค้าอย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกันการผูกขาดทางการค้า การแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม ป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่น และการส่งเสริมให้เกิดผู้ขายรายใหม่ ให้ความสำคัญกับเรื่องการทำธุรกรรมกับคู่ค้าที่มีเจตจำนงเดียวกันกับบริษัทในเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น การจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว การจ้างงานอย่างเป็นธรรม ไม่ใช้แรงงานเด็กหรือแรงงานบังคับ การไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน และการร่วมดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจให้คู่ค้ามีความรับผิดชอบต่อสังคม

บริษัทฯ ได้จัดทำจรรยาบรรณคู่ค้าธุรกิจและแนวปฏิบัติ เพื่อส่งเสริมคู่ค้าดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนและยังเป็นโอกาสให้บริษัทฯ และคู่ค้ามีส่วนร่วมพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างความเติบโตและยั่งยืนไปด้วยกัน ทั้งนี้ หลักการที่นำมาจัดทำจรรยาบรรณคู่ค้าธุรกิจและแนวปฏิบัติ นอกจากข้อกำหนด ข้อบังคับ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง และจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ยังได้อ้างอิงถึงกฎบัตรและมาตรฐานต่างๆ ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล คือ องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO) และ ข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (UN Global Compact)

จรรยาบรรณคู่ค้าธุรกิจและแนวปฏิบัติ

นโยบายการบริหารสินเชื่อทางการค้ากับคู่ค้า (Credit Term)

บริษัทฯ ให้ความสำคัญต่อการเติบโตอย่างยั่งยืนไปพร้อมกับคู่ค้าในห่วงโซ่อุปทาน โดยการกำหนดและตกลงเงื่อนไขทางการค้ากับคู่ค้าต้องเป็นไปเพื่อสะท้อนจรรยาบรรณในการประกอบธุรกิจ การส่งมอบสินค้าที่ได้มาตรฐานในเวลาที่กำหนด การตอบสนองการสื่อสารและการร่วมพัฒนาธุรกิจระหว่างบริษัทฯ และคู่ค้า ซึ่งบริษัทฯ จะกำหนดสินเชื่อทางการค้ากับคู่ค้าแต่ละราย โดยพิจารณาจากปัจจัยหลายๆด้านข้างต้น โดยสินเชื่อดังกล่าวต้องสะท้อนถึงเครดิตของบริษัทฯ และความสามารถในการบริหารสภาพคล่องของบริษัทฯ และคู่ค้าอย่างเหมาะสมด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ระยะเวลาสินเชื่อทางการค้าที่บริษัทฯ มีกับคู่ค้าโดยส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงระหว่าง 30 – 60 วัน

ระยะเวลาการชำระเงิน ค่าเฉลี่ยที่เกิดขึ้นจริงในปี 2566
30 - 60 วัน 39 วัน

แนวทางการบริหารจัดการคู่ค้า

บริษัทฯ ตระหนักถึงปัจจัยด้านความยั่งยืนในการจัดการห่วงโซ่อุปทาน จึงได้กำหนดประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในมิติของเศรษฐกิจและการกำกับดูแล สังคม และสิ่งแวดล้อม (ESG) มาผสมผสานไว้ในแนวทางการบริหารจัดการคู่ค้า โดยมุ่งเน้นความโปร่งใสและตรวจสอบได้ ผ่านกระบวนการ ดังนี้

1. กระบวนการสรรหาและคัดเลือกคู่ค้า

บริษัทฯ จะคัดเลือกคู่ค้ารายใหม่โดยใช้เกณฑ์ประเมินที่ครอบคลุม และสอดคล้องกับระบบมาตรฐานต่างๆ ที่บริษัท ได้รับการรับรอง เช่น BSCI, SMETA, ISO14001, ISO45001 และ ISO22301 เป็นต้น นอกจากนี้บริษัทฯ ได้ทำการทบทวน และจัดทำแบบประเมินและคัดเลือกคู่ค้ารายใหม่ ซึ่งมีหัวข้อในการประเมิน จำนวน 5 เรื่อง คะแนนเต็ม 100 คะแนน ครอบคลุมประเด็นด้านสังคม เช่น สิทธิมนุษยชน การใช้แรงงาน ความปลอดภัย และด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การปฏิบัติตามกฎหมาย การจัดทำมาตรการต่างๆ เพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น คู่ค้าที่ผ่านเกณฑ์การประเมินจะได้รับการอนุมัตินำรายชื่อเพื่อขึ้นทะเบียนคู่ค้ารายใหม่ (Approved Vendor List) ต่อไป

2. การประเมินความเสี่ยงและจำแนกประเภทคู่ค้า

บริษัทฯ ได้กำหนดเกณฑ์ในการประเมินความสำคัญของคู่ค้า (Critical Supplier) และความเสี่ยงด้าน ESG (ESG Risk) เพื่อจัดกลุ่มคู่ค้าตามความเสี่ยง โดยพิจารณาถึงลักษณะสินค้าและการให้บริการของคู่ค้า การวิเคราะห์ค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อจ้างในแต่ละกลุ่มสินค้าและการให้บริการ มีการกำหนดเกณฑ์การจำแนกประเภทคู่ค้า เพื่อให้สามารถบริหารจัดการคู่ค้าได้อย่างเหมาะสม สามารถแบ่งตามประเภท ดังนี้

  • คู่ค้าทางตรง หรือ คู่ค้าทั่วไปลำดับที่ 1 (Tier 1 Suppliers) หมายถึง คู่ค้าที่เป็นผู้ผลิตหรือให้บริการโดยตรงแก่องค์กร
  • คู่ค้าทางอ้อม (Non-Tier 1 Suppliers) หมายถึง คู่ค้าที่เป็นผู้ผลิตหรือให้บริการแก่คู่ค้าลำดับที่ 1
  • คู่ค้ารายสำคัญ (Significant Tier 1 Suppliers) หมายถึง คู่ค้ารายสำคัญที่เป็นผู้ผลิตหรือให้บริการโดยตรงแก่องค์กร
  • คู่ค้าทางอ้อมรายสำคัญ (Significant Non-Tier 1 Suppliers) หมายถึง คู่ค้ารายสำคัญที่เป็นผู้ผลิตหรือให้บริการแก่คู่ค้าลำดับที่ 1

3. การตรวจประเมินผลการดำเนินงานของคู่ค้า

บริษัทฯ จะส่งแบบประเมินให้คู่ค้าทำการประเมินตนเองอย่างน้อย 1 ครั้งในทุกๆ 2 ปี โดยแบบประเมินที่ใช้ตรวจติดตามอ้างอิงตามข้อกำหนด/กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคู่ค้า เช่น ISO 9001, ISO 13485, ISO/IEC 17025, ISO 14001, ISO 45001, ISO 22000, BSCI Code of Conduct & SMETA, GMP, Halal และมาตรฐานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ครอบคลุมทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล รวมถึงด้านการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ สำหรับกลุ่ม Critical Outsource จะต้องทำการตรวจติดตามผู้ค้าอย่างน้อย 1 ครั้ง / ปี โดยฝ่ายระบบคุณภาพดำเนินการนัดประชุมฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำการทบทวนและสรุปรายชื่อ Supplier ที่ต้องดำเนินการตรวจติดตามในแต่ละปี เพื่อจัดทำแผนการตรวจติดตามและดำเนินการตรวจประเมินในพื้นที่ปฏิบัติการ (On-site Audit)

4. การสร้างความสัมพันธ์และการพัฒนาคู่ค้า

บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการให้ความรู้ พัฒนาศักยภาพและยกระดับความสามารถในการผลิตและให้บริการของคู่ค้าให้ได้มาตรฐาน ควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้คู่ค้ามีความรับผิดชอบต่อสังคม โดยจัดให้มีการสื่อสาร อบรมผู้รับเหมาประจำปี ศึกษาดูงาน การประชุมร่วมกับคู่ค้า และการตรวจประเมินคู่ค้าประจำปี เพื่อให้คำแนะนำ ร่วมพัฒนาคุณภาพวัตถุดิบและการส่งมอบให้สอดคล้องกับความต้องการของบริษัทฯ และหากพบว่าคู่ค้ารายใดมีความบกพร่อง หรือมีความเสี่ยงด้าน ESG สูง (High Risk) ฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะจัดทำแผนการแก้ไขข้อบกพร่อง (Corrective action plan) เพื่อติดตามแก้ไขข้อบกพร่องร่วมกับคู่ค้า รวมถึงให้คำแนะนำเพื่อลดความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจของคู่ค้า และของบริษัทฯ ด้วย

การร่วมพัฒนาคู่ค้า (Supplier development program)

กิจกรรมสำคัญปี 2566

จากการที่บริษัทฯ เป็นพันธมิตรทางธุรกิจที่ดีกับบริษัทในเครือเอสซีจี ทำให้ในปี 2566 บริษัทฯ ได้ต่อยอด โดยการลงการลงนามความร่วมมือกับ บริษัท เอส ซี ไอ อีโค่ เซอร์วิสเซส จำกัด ร่วมกันศึกษาและแลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อดำเนินงานด้านการจัดการของเสียและวัสดุเหลือใช้ โดยเฉพาะของเสียจากการประกอบกิจการโรงงาน ตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักในการมุ่งเน้นการนำของเสียมาเป็นเชื้อเพลิงทดแทน

การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เรื่อง การบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ระหว่างบริษัท เอส ซี ไอ อีโค่ เซอร์วิสเซส จำกัด กับ บริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) วันที่ 24 เมษายน 2566

โครงการ Waste Former to Refractory (โครงการต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2565)

โครงการที่เกิดจากความร่วมมือกับผู้ส่งมอบวัตถุดิบสารเคมีที่ปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์สารเคมี ที่รับเข้า เพื่อลดขยะอันตรายจากภาชนะบรรจุสารเคมี โครงการที่เกิดจากความร่วมมือของ STGT และ SRIC ในเครือ SCG โดยการส่งแม่พิมพ์ ถุงมือเซรามิคที่หมดอายุการใช้งานของ STGT ไปเป็น substituted raw material ในการผลิตปูนทนไฟ ของ SRIC

ในปี 2566 สามารถลดการฝังกลบ Former จำนวน 1,140.45 ตันต่อปี และลดค่าใช้จ่าย ในการส่งกำจัด เป็นจำนวน 2,030,000 บาทต่อปี

Other SD Project

ความรับผิดชอบต่อลูกค้า ผู้บริโภค

ติดต่อเรา