ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน

ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน เป็นประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนที่บริษัทฯ ให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการบริหารจัดการเพื่อป้องกันความเสี่ยง อุบัติการณ์และผลกระทบต่อธุรกิจและผู้มีส่วนได้เสีย อีกทั้งยังเป็นประเด็นสำคัญที่ผู้มีส่วนได้เสียของบริษัทฯ ให้ความสนใจต่อการบริหารจัดการของบริษัทฯ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจต่อผู้มีส่วนได้เสีย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มพนักงาน คู่ค้า/ผู้รับเหมา และชุมชนรอบโรงงาน ดังนั้นบริษัทฯ จึงมีนโยบายอาชีวอนามัยและความปลอดภัย (Occupational Health & Safety Policy) และประกาศเรื่อง กฎระเบียบของบริษัทฯ สำหรับผู้รับเหมา เป็นแนวปฏิบัติสำหรับพนักงานและผู้รับเหมาทุกคน โดยกำหนดให้มีหน้าที่และความรับผิดชอบด้านความปลอดภัย ทั้งต่อตัวเองและเพื่อนร่วมงาน สอดคล้องกับกฎหมายและระบบมาตรฐานต่างๆด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย นอกจากนี้บริษัทฯ ได้จัดให้มีคณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (คปอ.) และการบริหารงานด้านความปลอดภัยตามมาตรฐานระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ISO 45001 เพื่อสร้างเสถียรภาพด้านความปลอดภัยในการดำเนินธุรกิจ (Disclosure 403-1) โดยมีการดำเนินงานในปี 2564 ดังนี้

การระบุอันตราย การประเมินความเสี่ยง และการสอบสวนอุบัติการณ์ (Disclosure 403-2)

บริษัทฯ ดำเนินการระบุอันตรายที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน และการประเมินความเสี่ยงด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย เพื่อจัดทำแผนการควบคุมและป้องกันความเสี่ยง ตลอดจนหาโอกาสในการปรับปรุงการดำเนินงานด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย ครอบคลุมกิจกรรมที่ดำเนินงานโดยพนักงานและผู้รับเหมา โดยกระบวนการระบุอันตรายจะพิจารณา ลักษณะงาน สถานที่ กิจกรรม และอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น สำหรับการประเมินความเสี่ยงจะพิจารณาปัจจัยทางสังคม วิธีการทำงาน อุบัติการณ์ในอดีต การออกแบบวิธีการทำงาน และกระบวนการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป โดยดำเนินการประเมินความเสี่ยงอย่างน้อยปีละครั้ง

ผลจากการประเมินความเสี่ยงด้านความปลอดภัยพบว่า ความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการบาดเจ็บจากการทำงานที่มีผลกระทบสูง (high-consequence work-related injury) ได้แก่ ไฟไหม้ สารเคมีหกรั่วไหล และหม้อไอน้ำระเบิด ดังนั้นบริษัทฯ จึงกำหนดมาตรการป้องกันและควบคุมอันตรายให้สอดคล้องกับหลักลำดับชั้นของการควบคุมอันตราย (hierarchy of controls) โดยมุ่งเน้นการขจัดความเสี่ยงและอันตราย (elimination) ในการทำงาน นอกจากนี้บริษัทฯ ยังได้เตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเกิดเหตุฉุกเฉินต่างๆ เช่น การตรวจสอบระบบเตือนภัย เส้นทางหนีไฟ ไฟส่องสว่างฉุกเฉิน ป้ายและทางออกฉุกเฉิน ระบบดับเพลิงอัตโนมัติ และอุปกรณ์ระงับเหตุฉุกเฉินต่างๆ ตลอดจนมีการฝึกซ้อมทีมระงับเหตุฉุกเฉินให้มีความพร้อมปฏิบัติงานอยู่เสมอ

บริษัทฯ ได้กำหนดขั้นตอนการปฏิบัติงานกรณีเกิดอุบัติการณ์ทางด้านร่างกายหรือทรัพย์สิน ตลอดจนโรคอันเนื่องมากจากทำงาน โดยมีกระบวนการสอบสวนอุบัติเหตุเพื่อหาสาเหตุ กำหนดมาตรการในการแก้ไข และป้องกันการเกิดซ้ำ ตลอดจนติดตามผลการดำเนินการแก้ไข

สำหรับการสอบสวนอุบัติเหตุหรือเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น บริษัทฯ กำหนดให้ผู้พบเห็นหรืออยู่ในเหตุการณ์จะต้องรายงานให้เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยและผู้ที่เกี่ยวข้องทราบภายใน 24 ชั่วโมง หลังจากนั้นกระบวนการสืบสวนอุบัติเหตุจึงเริ่มขึ้น โดยใช้เครื่องมือ Why Three Analysis เพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดอุบัติเหตุ และจัดหามาตรการป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำ รวมถึงมีการติดตามผลการดำเนินงานปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง บริษัทฯ ยังได้มีการสื่อสารการเรียนรู้จากบทเรียนในอดีตที่ผ่านมาให้กับพนักงานและผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ของบริษัทฯ เพื่อสร้างความตระหนักและป้องกันการเกิดอุบัติเหตุซ้ำเดิม

นอกจากนี้บริษัทฯ ได้ส่งเสริมวัฒนธรรมความปลอดภัยในองค์กร โดยรณรงค์ให้พนักงานรายงานสภาพการณ์และการกระทำที่ไม่ปลอดภัยทั้งในรูปแบบ Application และกล่องรับการรายงาน เพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยง โดยพนักงานหรือผู้รับเหมาที่พบสภาพการณ์และการกระทำที่ไม่ปลอดภัยที่อาจส่งผลกระทบต่อผู้ปฏิบัติงานในลักษณะของการบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยด้วยโรคจากการทำงาน พนักงานหรือผู้รับเหมาสามารถหยุดการทำงาน โดยไม่ถือเป็นความผิดในการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และรายงานให้หัวหน้างานทราบเพื่อตรวจสอบและแก้ไขให้มีความปลอดภัยก่อนเริ่มปฏิบัติงานต่อไป

การบริการด้านสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน (Disclosure 403-3)

นอกจากเรื่องความปลอดภัยในการทำงาน บริษัทฯ ได้คำนึงถึงการบูรณาการประเด็นด้านสุขภาพเข้ากับการดำเนินธุรกิจ ด้วยความตระหนักว่าองค์กรจะเติบโตอย่างยั่งยืนได้ ต้องมาจากพนักงานที่มีสุขภาพดีทั้งร่างกายและจิตใจซึ่งส่งผลถึงประสิทธิภาพและสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดีขึ้น บริษัทฯ จึงใส่ใจในการดูแลและป้องกันความเสี่ยงด้านสุขภาพของพนักงานและผู้ที่เข้ามาปฏิบัติงานในพื้นที่บริษัทฯ บริษัทฯ จัดให้มีการประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพของผู้ปฏิบัติงาน (health risk assessment) โดยแพทย์อาชีวเวชศาสตร์ โดยครอบคลุมกิจกรรมการดำเนินงานของบริษัทฯ เพื่อกำหนดมาตรการควบคุมและลดความเสี่ยงด้านสุขภาพอย่างเหมาะสม บริษัทฯ ได้กำหนดกระบวนการเฝ้าระวังและตรวจวัดสภาพแวดล้อมในการทำงานอย่างสม่ำเสมอ เช่น การตรวจวัดกลิ่น แสง เสียง ความร้อน ฝุ่น และสารเคมีในพื้นที่ปฏิบัติงาน เทียบกับค่ามาตรฐานความปลอดภัยที่เกี่ยวข้อง โดยหากผลการตรวจวัดมีค่าเกินค่ามาตรฐาน บริษัทฯ จะดำเนินการปรับปรุงและตรวจติดตามอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ผลการตรวจวัดสอดคล้องกับค่ามาตรฐานด้านความปลอดภัย

บริษัทฯ มีสถานพยาบาลและพยาบาลประจำ เพื่อให้บริการด้านสุขภาพให้กับพนักงานและผู้ที่เข้ามาปฏิบัติงานในพื้นที่ของบริษัทฯ อีกทั้งยังจัดให้มีการตรวจสุขภาพพนักงานก่อนเริ่มทำงาน เมื่อเปลี่ยนงาน และการตรวจสุขภาพประจำปีที่มีการตรวจสุขภาพทั่วไปและการตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยงด้านอาชีวอนามัยโดยแพทย์อาชีวเวชศาสตร์ รวมถึงจัดให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน ให้คําแนะนําแก่พนักงานและผู้ปฏิบัติงานในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย

การมีส่วนร่วม การให้คำปรึกษา และการสื่อสารในประเด็นอาชีวอนามัยและความปลอดภัย (Disclosure 403-4)

บริษัทฯ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของพนักงานในการพัฒนาการดำเนินงานด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยผ่าน คณะกรรมการความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน (คปอ.) ที่บริษัทฯ จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย โดยมีหน้าที่ความรับผิดชอบในการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย รวมถึงส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้ปฏิบัติงานผ่านตัวแทนฝ่ายลูกจ้าง ซึ่งมาจากการเลือกตั้งแยกตามตามสายงาน เพื่อให้ตัวแทนสามารถสื่อสารให้กับพนักงานได้ทุกสายงานและทุกระดับ โดยตัวแทนฝ่ายลูกจ้างจะการดำเนินงานร่วมกับฝ่ายบริหาร โดยคณะทำงานกำหนดให้มีการประชุมอย่างน้อยเดือนละหนึ่งครั้ง เพื่อเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร การปรับปรุงและติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ ในปี 2564 คณะทำงานได้เสนอแนะความเสี่ยงต่างๆที่เกิดขึ้นภายในแผนกของตนเองและรอบข้าง เพื่อป้องกันและแก้ไขไม่ให้เกิดอุบัติเหตุทั้งทางด้านร่างกายและทรัพย์สิน รวมทั้งการตรวจพื้นที่ด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย เพื่อปรับปรุงพื้นที่ทำงานให้มีความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง

นอกจากการจัดประชุมคณะกรรมการ คปอ. แล้วนั้น บริษัทฯ ได้จัดกิจกรรมส่งเสริมความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในการทำงานที่หลากหลาย เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของพนักงาน สร้างความตระหนัก ให้คำปรึกษา และสื่อสารในประเด็นที่เกี่ยวกับความปลอดภัยและอาชีวอนามัย ผ่านกิจกรรม Safety Day กิจกรรมจิตอาสาด้านความปลอดภัย การชื่นชมและมอบรางวัลด้านความปลอดภัย สื่อนิทรรศการด้านความปลอดภัย เกมส์ตอบคำถามด้านความปลอดภัย การสื่อสารผ่าน Outlook ป้ายประกาศ เสียงตามสายด้านความปลอดภัยในการทำงาน (safety radio) กิจกรรม 5ส และ safety talk เป็นต้น

การอบรมพนักงานด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย (Disclosure 403-5)

บริษัทฯ จัดให้มีการอบรมด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยให้กับพนักงานและผู้ปฏิบัติงานทุกคนก่อนเริ่มทำงาน หรือเมื่อเปลี่ยนงาน โดยพิจารณาหลักสูตรการฝึกอบรมที่จำเป็น ตามลักษณะของอันตรายและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับงานหรือกิจกรรมที่ปฏิบัติ เช่น การอบรมดับเพลิงขั้นต้น การอบรมการปฐมพยาบาลเบื้องต้น การฝึกอบรมการขับขี่รถโฟล์คลิฟท์และรถแฮนด์ลิฟท์อย่างถูกต้องและปลอดภัย การอบรมความปลอดภัยในการใช้สารเคมี การอบรมความปลอดภัยเกี่ยวกับไฟฟ้า และการอบรมความปลอดภัยในการทำงานในพื้นที่อับอากาศ เป็นต้น นอกจากนี้บริษัทฯ ได้จัดการฝึกอบรมในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินต่างๆ เช่น การฝึกซ้อมอพยพหนีไฟ สารเคมีรั่วไหล และน้ำท่วม เป็นต้น และมีการจัดตั้งและอบรมทีมฉุกเฉินอย่างสม่ำเสมอ บริษัทฯ มีการจัดทำแผนการฝึกอบรม ติดตามการดำเนินการตามแผน การประเมินผล ตลอดจนบันทึกประวัติการฝึกอบรมของพนักงาน เพื่อพัฒนาความรู้ความสามารถ ในการป้องกันและควบคุมอันตรายในขณะปฏิบัติงาน

การส่งเสริมสุขภาพของผู้ปฏิบัติงาน (Disclosure 403-6)

นอกจากบริการด้านสุขภาพและอาชีวอนามัยที่เกี่ยวข้องกับการทำงานแล้ว บริษัทฯ ยังให้ความสำคัญต่อสุขภาพของพนักงานและผู้ปฏิบัติงานในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ สำหรับการเจ็บป่วยที่ไม่ใช่โรคจากการทำงาน โดย

  • ให้บริการรักษาพยาบาลเบื้องต้นและการรักษาในกรณีฉุกเฉินแก่พนักงานและผู้ปฏิบัติงาน ณ ห้องพยาบาลของบริษัทฯ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
  • จัดบริการการตรวจสุขภาพประจำปีให้กับพนักงาน และจัดโครงการส่งเสริมการตรวจสุขภาพสำหรับพนักงานที่มีอายุเกิน 35 ปี
  • จัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับพนักงานทุกคน

สำหรับช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในปี 2564 บริษัทฯ กำหนดมาตการการคัดกรองพนักงานและผู้รับเหมาที่เข้ามาทำงานในพื้นที่ปฏิบัติงาน โดยมีการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย กรอกแบบสอบถามสุขภาพและประวัติการเดินทาง อีกทั้งได้กำหนดแนวปฏิบัติในการทำงานเพื่อป้องกันการติดเชื้อ ได้แก่ การสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาเมื่อปฏิบัติงานและประชุมร่วมกับผู้อื่น การรักษาระยะห่างทางสังคมในการทำงาน การแยกรับประทานอาหาร การประชุมผ่านระบบออนไลน์ การรณรงค์หมั่นล้างมือและรักษาความสะอาด การประชาสัมพันธ์ให้ความรู้และข้อแนะนำเกี่ยวกับการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 การติดตั้งจุดให้บริการเจลแอลกอฮอล์ รวมถึงการฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ และทำการอบโอโซนในพื้นที่ปฏิบัติทุกสัปดาห์ เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในที่ทำงาน

บริษัทฯ ยังได้สนับสนุนด้านกีฬาให้กับพนักงาน เพื่อส่งเสริมให้พนักงานมีสุขภาพที่แข็งแรง และช่วยลดความเสี่ยงด้านสุขภาพ ผ่านการสนับสนุนดังนี้

  • สนับสนุนจัดสร้างสนามฟุตบอล (Lewis Stadium) บริเวณด้านหน้าของบริษัท เพื่อให้พนักงานได้ออกกำลังกาย คลายเครียดจากการทำงาน รวมถึงการสร้างความสามัคคี ความสัมพันธ์ ในหมู่พนักงาน
  • สนับสนุนเรื่องสถานที่และอุปกรณ์การออกกำลังกายที่บ้านพักพนักงาน
  • สนับสนุนจัดสร้างสนามเปตอง และสนามตะกร้อที่บ้านพักพนักงาน เพื่อให้พนักงานเข้าถึงการเล่นกีฬาที่หลากหลายชนิดมากขึ้น

การป้องกันและลดผลกระทบด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับความสัมพันธ์ทางธุรกิจ (Disclosure 403-7)

นอกจากการป้องกันและลดผลกระทบด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของพนักงานและผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ของบริษัทฯ แล้ว บริษัทฯ ยังตระหนักถึงความเสี่ยงและผลกระทบเชิงลบด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ที่อาจเกิดจากการดำเนินงานของคู่ค้าหรือคู่ธุรกิจ ดังนั้นบริษัทฯ จึงได้กำหนดจรรยาบรรณคู่ค้าธุรกิจและแนวปฏิบัติ (supplier code of conduct) เพื่อส่งเสริมคู่ค้าธุรกิจให้มีการดำเนินงานสอดคล้องกับวิถีการดำเนินงานของบริษัทฯ โดยมีแนวปฏิบัติด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยสำหรับคู่ค้าธุรกิจ ดังนี้

  • จัดเตรียมสภาพแวดล้อมการทำงานให้ปลอดภัย และควบคุมความเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุและผลกระทบด้านสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นจากการปฏิบัติงาน และจัดให้มีบริการด้านสุขภาพ ความช่วยเหลือทางการแพทย์ และสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างเพียงพอ
  • จัดให้มีการฝึกอบรมด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยอย่างสม่ำเสมอสำหรับพนักงาน
  • จัดให้มีอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลอย่างเหมาะสม
  • ประเมินและเตรียมแผนรองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน ตลอดจนการตอบสนอง ฟื้นฟู และแผนการสื่อสาร

จรรยาบรรณคู่ค้าธุรกิจและแนวปฏิบัติด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยนี้ คู่ค้าธุรกิจของบริษัทฯ จะต้องยึดถือและปฏิบัติตาม เพื่อป้องกันความเสี่ยงและลดผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจทั้งของคู่ค้าธุรกิจและต่อบริษัทฯ

ผลการดำเนินงาน

บริษัทฯ กำหนดตัวชี้วัดด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในการดำเนินงานของพนักงานและผู้รับเหมา/ผู้ปฏิบัติงาน ได้แก่

  • อัตราความถี่ของการบาดเจ็บ (Loss-time Injury Frequency Rate: LTIFR)
  • อัตราความสาหัสของการบาดเจ็บ (Injury Severity Rate: ISR)
  • อัตราการบาดเจ็บรวม (Total Recordable Injury Rate: TRIR)
  • อัตราการบาดเจ็บจากการทำงานที่มีผลกระทบสูง (High-Consequence Work-related Injuries Rate)
ตัวชี้วัดด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย หน่วย 2564 เป้าหมาย

การเสียชีวิตจากการทำงาน (Fatality)

  • พนักงาน
  • ผู้รับเหมา
ราย Xxx 0

อัตราความถี่ของการบาดเจ็บ (LTIFR)

  • พนักงาน
  • ผู้รับเหมา
ครั้งต่อหนึ่งล้านชั่วโมงการทำงาน Xxx  

อัตราความสาหัสของการบาดเจ็บ (ISR)

  • พนักงาน
  • ผู้รับเหมา
ครั้งต่อหนึ่งล้านชั่วโมงการทำงาน Xxx  

อัตราการบาดเจ็บรวม (TRIR)

  • พนักงาน
  • ผู้รับเหมา
ครั้งต่อหนึ่งล้านชั่วโมงการทำงาน Xxx  

อัตราการบาดเจ็บจากการทำงานที่มีผลกระทบสูง (High-Consequence Work-related Injuries Rate*)

  • พนักงาน
  • ผู้รับเหมา
ครั้ง Xxx  
อัตราการเจ็บป่วยด้วยโรคจากการทำงาน (OIFR) ราย Xxx  
คู่ค้าธุรกิจที่ตอบรับจรรยาบรรณคู่ค้าธุรกิจที่ปฏิบัติตามแนวปฏิบัติด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย ราย Xxx  

อัตราการบาดเจ็บจากการทำงานที่มีผลกระทบสูง (High-Consequence Work-related Injuries Rate*) หมายถึง การบาดเจ็บจากการทำงานที่ส่งผลให้เสียชีวิต หรือการบาดเจ็บที่ทำให้ผู้ปฏิบัติงานไม่สามารถฟื้นฟูร่างกายให้กลับมาอยู่ในสภาพเหมือนเดิมก่อนที่จะเกิดอุบัติเหตุได้ภายใน 6 เดือนหลังจากเกิดอุบัติเหตุ

Other SD Project

ศรีตรังโกลฟส์ มอบสิ่งของอุปโภคบริโภคต้อนรับเดือนรอมฎอน

Our Social Responsibility during Covid-19

ติดต่อเรา