ข่าวจากสื่อสื่งพิมพ์

'ศรีตรังโกลฟส์' เร่งลงทุนรับ New normal มุ่งขึ้นเบอร์ 2 ผู้ผลิตถุงมือยางโลก

"ศรีตรังโกลฟส์" รับกระแส New normal ดันความต้องการถุงมือยางโต 20% ต่อปี เร่งขยายกำลังการผลิตลงทุน 2.4 หมื่นล้านบาท ตั้งโรงงานเพิ่ม 7 แห่ง ภายในปี 2569 ตั้งเป้ากำลังการผลิตทะลุ 1 แสนล้านชิ้นภายในปี 2575 เร่งวิจัยพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

นางสาวจริญญา จิโรจน์กุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากวิกฤติโควิด-19 ที่เกิดขึ้นได้ส่งผลบวกต่ออุตสาหกรรมถุงมือยางมากพอสมควร

โดยช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 อัตราการเติบโตของตลาดถุงมือยางอยู่ในระดับ 12% ต่อปี มาโดยตลอด แต่ในปี 2020 ในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ความต้องการของตลาดโลกได้เพิ่มเป็น 20% ต่อปี โดยในปีหน้าตลาดอาจจะโตต่ำกว่า 20% อยู่เล็กน้อย แต่ก็จะไม่กลับไปที่ 12% อีกแน่นอน

สำหรับความต้องการของถุงมือยางในตลาดโลกจะอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง เพราะวิกฤติโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ทำให้เกิด New normal โดยพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป จากเดิมถุงมือยางจะใช้มากในกลุ่มทางการแพทย์ ได้เปลี่ยนไปโดยกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร ธุรกิจบริการ เช่น สายการบิน ร้านอาหาร ต่างก็หันมาใช้ถุงมือยางกันมากขึ้น เพื่อความปลอดภัยทางสุขอนามัย

รวมไปถึงวงการสาธารณสุขในประเทศกำลังพัฒนาก็ได้รับการปรับปรุงมาตรฐาน ทำให้มีความต้องการใช้ถุงมือยางเพิ่มขึ้น ตลอดจนความตื่นตัวด้านสาธารณสุขเพื่อรองรับโรคอุบัติใหม่ ก็จะยิ่งทำให้ความต้องการใช้ถุงมือยางโตขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ความต้องการของตลาดโลกจะเพิ่มไม่ต่ำกว่า 15% ไปอีกนาน

ในขณะที่ฝั่งการผลิตถุงมือยางทั้งโลกได้ขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นได้ไม่มากนัก เพราะอุตสาหกรรมนี้ใช้เงินลงทุนสูง หากจะตั้งโรงงานผลิตถุงมือยางที่มีกำลังการผลิต 2,000-3,000 ล้านชิ้นต่อปี ซึ่งเป็นขนาดโรงงานที่คุ้มค่าต่อการลงทุนจะใช้งบประมาณในการก่อสร้างสูงกว่า 2,000 ล้านบาท และใช้เวลาก่อสร้างรวมทั้งติดตั้งเครื่องจักร ประมาณ 2 ปี

และจะต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปี ในการตรวจสอบมาตรฐานของประเทศต่างๆ ทั้งมาตรฐาน ในยุโรป มาตรฐานของสหรัฐ มาตรฐานของญี่ปุ่น มาตรฐานของจีน รวมไปถึงมาตรฐานสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของไทย เป็นต้น นอกจากนี้เทคโนโลยีการผลิตยังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หากปรับตัวได้ช้าก็จะก้าวไม่ทันเทคโนโลยีและไม่สามารถจะแข่งขันกับผู้ผลิตรายใหญ่ที่ครองตลาดอยู่ได้

อุตสาหกรรมผลิตถุงมือยางเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็วมาก โดยเมื่อ 30 ปี ก่อน เครื่องจักรมีกำลังการผลิต 5,000 ชิ้นต่อชั่วโมง แต่ปัจจุบันเครื่องจักรสำเร็จรูปมีกำลังการผลิต 30,000–40,000 ชิ้นต่อเครื่องต่อชั่วโมง

ในขณะที่บริษัทศรีตรังโกลฟส์ฯ สามารถเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นเป็น 5 หมื่นชิ้นต่อเครื่องต่อชั่วโมง ทำให้ผู้ผลิตหน้าใหม่แข่งขันกับรายใหญ่ได้ยาก เห็นได้จากในช่วงที่โรคเอดส์ระบาดหนักในช่วงปี 2523–2534 ทำให้มีความต้องการถุงมือยางสูง ส่งผลให้มีโรงงานผลิตถุงมือยางเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก แต่ก็ค่อย ๆ ล้มหายไปจนเหลือรายใหญ่ไม่กี่แห่ง เช่นเดียวกับในมาเลเซียที่เป็นประเทศผลิตถุงมือยางอันดับ 1 ของโลก ก็เหลือผู้ผลิตรายใหญ่เพียง 4-5 ราย

จากความต้องการของตลาดที่เพิ่มสูงขึ้นมากนี้ ทำให้ "ศรีตรังโกลฟส์" ต้องเร่งเพิ่มกำลังการผลิตจากระดับ 88-90% เพิ่มเป็น 95% และในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ศรีตรังโกลฟส์ ก็ได้ขยายกำลังการผลิตไปแล้วถึง 30% ในโรงงานทั้ง 3 แห่ง ได้แก่ โรงงานที่ จ.ตรัง จ.สุราษฎร์ธานี และ จ.สงขลา และได้เร่งโครงการลงทุนที่ได้วางแผนไว้แล้วจากเดิมที่จะเริ่มลงทุนในปี 2564 ต่อเนื่องไป 8 ปี โดยได้ปรับแผนให้เริ่มลงทุนทันทีในปีนี้ และจะลงทุนต่อเนื่องภายใน 6 ปีข้างหน้า

สำหรับปี 2563 จะตั้งโรงงานเพิ่ม 4 แห่ง ใช้เงินลงทุน 7,000 ล้านบาท จะแล้วเสร็จโรงงานแรกในไตรมาส 1 ปี 2564 โรงงานแห่งที่ 2 จะสร้างเสร็จในไตรมาส 4 ปี 2564 โรงงานแห่งที่ 3 จะสร้างเสร็จในปลายไตรมาส 4 ปี 2564 และโรงงานแห่งที่ 4 จะก่อสร้างเสร็จในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565 ซึ่งโรงงานใหม่ทั้ง 4 แห่งนี้ จะมีกำลังการผลิตรวม 37,000 ล้านชิ้นต่อปี

รวมกำลังการผลิตของ ศรีตรังโกลฟส์ ทั้งสิ้นจะมีจำนวน 70,000 ล้านชิ้นต่อปี นอกจากนี้ตั้งแต่ปี 2565–2569 จะทยอยสร้างโรงงานเพิ่มอีก 3 โรง รวมแล้วจะต้องใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น 24,000 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้มีกำลังการผลิตรวมสูงถึง 1 แสนล้านชิ้นต่อปี

"ความต้องการของตลาดโลกได้เพิ่มขึ้นสูงมากจนเกิดภาวะขาดแคลน โดย ศรีตรังโกลฟส์ มีคำสั่งซื้อไปจนถึงปี 2565 หากสั่งซื้อถุงมือยางธรรมชาติวันนี้จะส่งของได้ในไตรมาส 4 ของปี 2564 หรือหากจะสั่งถุงมือยางสังเคราะห์ ก็จะได้ของกลางปี 2565

ดังนั้น จึงได้ปรับแผนเร่งลงทุนให้เร็วขึ้น เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาด ซึ่งการลงทุนในปัจจุบันจะสามารถคืนทุนได้ภายใน 2 ปี จากเดิมที่ใช้เวลาคืนทุน 4-5 ปี โดยแผนการเพิ่มกำลังการผลิตนี้ จะทำให้ภายในปี 2569 บริษัทฯจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้ผลิตถุงมือยางใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากมาเลเซีย จากปัจจุบันที่อยู่ในอันดับ 3 ของโลก

นอกจากนี้ สิ่งที่ทำให้ "ศรีตรังโกลฟส์" มีศักยภาพเหนือกว่าคู่แข่งรายอื่น เพราะมีบริษัทแม่ที่เป็นผู้ผลิตน้ำยางพาราธรรมชาติครบวงจร และยังมีบริษัทในเครือที่เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมในการวิจัยค้นคว้าและผลิตติดตั้งเครื่องจักรได้เอง ทำให้มีข้อได้เปรียบทั้งในเรื่องวัตถุดิบและเทคโนโลยี

ในปัจจุบัน "ศรีตรังโกลฟส์" ใช้น้ำยางถึง 1.2 – 1.3 แสนตันต่อปี ซึ่งบริษัทแม่จะต้องจัดหาน้ำยางพาราเพิ่ม 15-20% ต่อปี เพื่อรองรับการผลิตถุงมือยางที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่บริษัทวิศวกรรม ก็ต้องออกแบบติดตั้งเครื่องจักรให้ทันต่อการขยายกำลังการผลิต รวมทั้งทีมงานด้านโลจิสติกส์ก็ต้องขยับตัวตาม เพื่อให้ขนส่งสินค้าได้ทัน

สำหรับ ผลิตภัณฑ์ของ "ศรีตรังโกลฟส์" ในขณะนี้ มีอยู่ 4 กลุ่ม ได้แก่

  1. ถุงมือยางธรรมชาติแบบมีแป้ง
  2. ถุงมือยางธรรมชาติแบบไม่มีแป้ง
  3. ถุงมือยางไนไตรล์ (ยางสังเคราะห์) ซึ่งจะมีคุณสมบัติคงทนต่อสารเคมีและน้ำมัน ทำให้เหมาะสมในหลายวงการทั้งทางการแพทย์ และอุตสาหกรรมต่างๆ
  4. ถุงมือยางทางการแพทย์แบบปราศจากเชื้อด้วยรังสีแกมมา เหมาะกับงานด้านการแพทย์ที่ต้องการการปลอดเชื้อเป็นพิเศษ

ที่มา : bangkokbiznews.com

ติดต่อเรา